หลักธรรมสำคัญ ๆ ทางพุทธศาสนา.. ที่ควรปริยัติ ศึกษา ทำความเข้าใจ .. หยั่งลงสู่การปฏิบัติ .. เพื่อความบรรลุอันเป็นผลที่เรียกว่า ปฏิเวธ อาทิ..
@ อริยสัจ 4.. ดังที่ท่านแสดงพอสรุปใจความได้ว่า.. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ สัตว์ทั้งหลายจึงท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด..
@ ไตรสิกขา.. ศีล สมาธิ ปัญญา.. ได้ชื่อว่า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือที่ท่านประมวลความว่า การเว้นบาปชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และ การทำจิตให้ผ่องแผ้วไกลกิเลส…
@ หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏฏ์) เช่น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เรามีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นทายาทของกรรม ทำกรรมอันใดไว้ ย่อมต้องรับผลของกรรมนั้น และ สภาวะโลกธรรม 8 ที่ปรากฎแก่เหล่าสัตว์ เป็นเครื่องบ่งชี้ กรรม และ ผลของกรรม
@ ไตรลักษณ์ .. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา .. มีความสัมพันธ์กัน ดังที่ท่านแสดงในรูป.. สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา.. โดยเฉพาะ อนัตตา หลักธรรมนี้ เป็นธรรมจำเพาะพระพุทธเจ้า หมายความว่า จำเพาะพระโพธิสัตว์ ที่อุบัติมาเพื่อความเป็นสัมมาสัมพุทธะ เท่านั้น ที่จะทรงสามารถพบธรรมนี้ได้.. และธรรมนี้ (ไตรลักษณ์) สำคัญโดดเด่นมาก ในเรื่องของปัญญาสิกขา.. ดังที่ท่านแสดงว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”… ที่สอดคล้องต้องกับ ที่พระบรมศาสดา มักทรงตรัสถามขันธ์ 5 หยั่งสู่ไตรลักษณ์.. แล้วทรงตรัสถามตอนท้ายว่า “ควรหรือที่จะยึดมั่นถือมั่นว่า นั่นเรา นั่นของเรา”… สิ่งอันบดบังให้ยากต่อการเห็น หรือไม่เห็นไตรลักษณ์.. สันตติ(ความสืบต่อ) อิริยาบถ ฆนะสัญญา(ความเป็นก้อน รูป รูปร่าง)..! นี้ก็เป็นธรรม อันจำเป็นต้องทำความรู้จักเข้าใจ เพื่อจะได้เห็นแจ้งสภาวไตรลักษณ์ หลุดพ้นความสำคัญมั่นหมายใน สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
|